วันนี้อาจารย์ให้วิเคราะห์เกี่ยวกับแท็บเล็ทที่รัฐบาลให้กับเด็ก ป.1
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกอยู่วัยประถมหนึ่ง อ่านข่าวชิ้นนี้แล้วรู้สึกอย่างไร ? “ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม มีการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จากกรณีมีการเผยแพร่ ภาพที่อ้างว่า เป็นแท็บเล็ตพีซี ที่รัฐบาลแจกให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 มาทดสอบการสกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ลามกอนาจาร โดยผู้ทดสอบ (ขอสงวนนาม) ได้อ้างว่า นำเครื่องแท็บเล็ตสำหรับแจกจ่ายให้นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่มารดานำกลับมาจากการอบรมมาทดสอบ โดยทดลองเข้าเว็บโป๊แห่งต่างๆ ซึ่งปรากฏว่า สามารถเข้าไปใช้บริการเว็บลามกอนาจารต่างๆ ได้ทุกเว็บที่ลองทดสอบ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมทั้ง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ระบุว่า มีการบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์ลักษณะดังกล่าวหมดแล้ว โดยเด็กนักเรียนที่ใช้แท็บเล็ตพีซีที่รัฐบาลแจกให้ จะสามารถเข้าได้เฉพาะเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนเท่านั้น จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้อง” …… ข่าวชิ้นนี้ถูกขยายผลมาจากสังคมออนไลน์ที่ได้มีการส่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้เด็กบางคนยังไม่ได้เครื่องแท็บเล็ตแต่สำหรับคนเป็นพ่อแม่ก็อดกังวลใจไม่ได้ว่าจะเป็นเช่นนี้จริงหรือ..!! ประเด็นเรื่องการเข้าถึงเว็ปไซต์ที่ไม่เหมาะสมของเด็กวัยประถมหนึ่ง เป็นเรื่องที่นักวิชาการและผู้ที่อยู่ในแวดวงคนที่ทำงานเด็กกังวลใจตั้งแต่ที่รู้ว่ามีนโยบายแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง และเชื่อว่า ปัญหาจะค่อยๆ ผุดออกมาเรื่อยๆ เมื่อเด็กได้รับและนำไปใช้แล้ว ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ประเด็นที่ถูกจับตาและมุ่งเน้น จะเป็นเรื่องของระบบ เครือข่าย ไวไฟที่ไม่ทั่วถึง ระบบไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ ไม่มีปลั๊กไฟ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องระบบ โครงสร้างที่ยังไม่ได้เตรียมพร้อม หรือรองรับได้อย่างทันท่วงที แต่เจ้าแท็บเล็ตก็มาถึงแล้ว แต่ประเด็นใหญ่ที่น่ากังวลใจมากกว่า และถูกละเลยมองข้าม ก็คือ เมื่อเจ้าแท็บเล็ตถึงมือของหนูน้อยวัยประถมหนึ่งเมื่อพวกเขายังไม่พร้อม จะเกิดอะไรขึ้น ? ปัญหาไม่ได้เกิดให้เห็นทันที เหมือนประเภทไม่มีไฟก็ใช้ไม่ได้ แต่มันคือปัญหาทางด้านพฤติกรรม ปัญหาทางด้านสติปัญญา ปัญหาสังคม ที่มันจะตามมาอีกมากมาย และมันจะส่งผลระยะยาว กลายเป็นปัญหาของเด็กรุ่นใหม่ที่จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ก่อนหน้านี้ ดิฉันได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ Bill Gates (บิล เกตส์) ซึ่งถือเป็นเจ้าแห่งไอทีอีกคนหนึ่ง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft กลับมีความคิดเห็นที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งถ้าจะสามารถกระตุกให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราได้คิดสักนิดก็ยังดี..!!! บิลเกตส์ ให้สัมภาษณ์ กับ เว็บไซต์ The Chronicle of Higher Education ในประเด็นการแจกแท็บเล็ตมาใช้ในการสอนว่า “หากเป็นแท็บเล็ตไว้แจกตัวเครื่องให้นักเรียนอย่างเดียว นับว่าเป็นเรื่องที่แย่มาก มันไม่ได้ช่วยให้การศึกษาดีขึ้นเลย มันจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหลักสูตรและตัวบุคลากรครูผู้สอนไปพร้อมๆ กัน ยิ่งอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตไม่มีคีย์บอร์ดก็ไม่เหมาะสำหรับการศึกษา เพราะแท็บเล็ตไม่ใช่แค่มีไว้อ่านเหมือนหนังสือ แต่มันเป็นการสื่อสารที่ต้องใช้การโต้ตอบ เพื่อเกิดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งแนะนำให้ใช้พีซีราคาถูก เป็นคำตอบที่ดีและเหมาะสมกว่า ถ้าเราสามารถปรับปรุงด้านหลักสูตรให้ดีขึ้น มีความพร้อม และสร้างระบบ และมีนโยบายเพื่อการเข้าถึงหลักสูตรเหล่านั้น ตัวอุปกรณ์นั้นจะเป็นคอมพิวเตอร์ให้ยืมจากห้องสมุดก็สามารถใช้งานได้” จะว่าไปก็สอดคล้องนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเด็กที่ก่อนหน้านี้ออกมาทักท้วงเรื่องความไม่เหมาะสม และความไม่พร้อมของเด็กประถมหนึ่ง เพราะยังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านและทุกมิติมาก่อน แต่สุดท้ายนโยบายเรื่องนี้ก็คลอดออกมาอย่างรวดเร็ว และทุกอย่างก็ดูเร่งรีบไปซะทุกเรื่อง โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นประเด็นถูกจับตาอย่างมาก และ..วันนี้แท็บเล็ตก็ทยอยแจกถึงมือเด็ก ป.1 กันแล้ว คำถามคือ จากนี้ไปจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นำเจ้าเครื่องแท็บเล็ตมาใช้? ความจริงเรื่องการแจกแท็บเล็ตก็มีข้อดีอยู่บ้าง เพราะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาสได้เข้าถึงข้อมูลทางเทคโนโลยีได้มากขึ้น เพราะเราก็ปฏิเสธโลกเทคโนโลยีไม่ได้แล้ว แต่คำถามหรือคำทักท้วงก็คือ ทำไมต้องเป็นเด็กประถมหนึ่ง ยิ่งถ้าเป็นเด็กชนบท เด็กที่ขาดโอกาส หรือเด็กที่ยังไม่พร้อม ยิ่งไม่เหมาะ เพราะเด็กบางคนยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้อีกต่างหาก นโนบายนี้จะเกิดประโยชน์อย่างมากถ้ามีการแจกในวัยที่เหมาะสม และมีการศึกษาถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างรอบด้านเสียก่อน รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วนของสังคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อเรื่องนี้ให้ชัดเจน และทำความรู้ความเข้าใจกับพ่อแม่กับสังคมให้ได้อย่างทั่วถึงเสียก่อน | ||||
ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่เองแล้วว่า ควรต้องเตรียมรับมืออย่างไรให้รู้เท่าทัน หนึ่ง ต้องไม่ปล่อยให้เด็กใช้แท็บเล็ตลำพัง ควรมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยทุกครั้ง เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกวิธี สอง กำหนดระยะเวลาในการใช้งาน หรือสร้างกฎกติกาภายในบ้านร่วมด้วย โดยอาจให้ลูกมีส่วนร่วมกันกำหนดด้วยก็ได้ สาม สอนให้ลูกใช้งานให้ถูกวิธี ทุกครั้งที่ใช้ควรอยู่ในสถานที่ๆ มีแสงสว่างเพียงพอ และมีระยะห่างกับจอพอสมควร มิฉะนั้น เด็กจะต้องใช้สายตาเพ่งมาก สี่ อย่าให้หมกมุ่นกับแท็บเล็ต จนไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นหรือออกกำลังกาย สุดท้ายจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพตามมา มักกลายเป็นเด็กอ้วน หรือเด็กที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ห้า ให้แบ่งเวลาสำหรับการอ่านหนังสือเป็นประจำ อาจกำหนดช่วงเวลาด้วยเพื่อปลูกฝังให้ลูกไม่ทิ้งเรื่องการอ่านหนังสือด้วย หก หมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกด้วย เพราะเด็กบางคนที่เสพติดคอมพิวเตอร์ เสพติดเกม หรือเสพติดเทคโนโลยี มักจะเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว หรืออาจเคยชินกับความรวดเร็ว ก็อาจไม่รู้จักการรอคอย ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องให้ได้ทันที ฯลฯ เจ็ด สำคัญที่สุด คือ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านต้องให้คำแนะนำเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตที่เหมาะสม ต้องคอยสอดส่องและควบคุมการใช้งาน อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเจ้าเครื่องนี้มีทั้งประโยชน์และโทษอย่างไร ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีจะนำไปสู่อะไร ในเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์จริง และลูกก็ได้รับแจกแท็บเล็ตด้วย พ่อแม่มีความจำเป็นต้องรู้เท่าทันและเตรียมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ต้องแปรวิกฤติให้เป็นโอกาสซะเลย แต่คนเป็นพ่อแม่ต้องมีความรู้ และหาข้อมูลให้เท่าทันเทคโนโลยีด้วย หนักใจแทนพ่อแม่ยุคนี้จริงๆ เพราะนอกจากจะต้องรับมือเรื่องโลกการเรียนรู้ของลูกเองแล้ว ก็ยังต้องคอยรับมือกับนโยบายของภาครัฐที่ไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะแจกยาหอมหรือยาพิษให้กับลูกหลานของเราเมื่อไรอีก…!!! |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น